วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

รายงานข่าวอย่างไร ไม่ตกเป็นเป็นจำเลย


รายงานข่าวอย่างไร ไม่ตกเป็นเป็นจำเลย



การรายงานข่าวของสื่อมวลชนในปัจจุบัน เข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะกรณีเด็กและเยาวชน ทำให้สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เรียกร้องให้สื่อมวลชนเคารพกฎหมายอย่างเคร่งครัด
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดสัมมนาในหัวข้อ "รายงานข่าวอย่างไร ไม่ตกเป็นจำเลย" เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย ในการรายงานข่าวของสื่อมวลชน เนื่องจากการเสนอข่าวในปัจจุบันเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่บ่อยครั้ง

นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหาร สถาบันอิศรา กล่าวว่า ปัจจุบันการรายงานข่าวกรณีเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน มีความเสี่ยงที่จะเข้าข่ายการละเมิดสิทธิฯ มากที่สุด เนื่องจากมีกฎหมายคุ้มครองหลายฉบับ เช่น พรบ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีการพิจารณาคดี พ.ศ.2553, ประมวลกฎหมายอาญา และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ที่ผ่านมากฎหมายเหล่านี้ ยังไม่เคยถูกบังคับใช้กับสื่อมวลชนอย่างเคร่งครัด ทำให้ยังคงมีการกระทำผิดอยู่บ่อยครั้ง

นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ ประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้านกฎหมาย และการปฎิบัติที่ไม่เป็นธรรม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แสดงความไม่เห็นด้วย กรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐจัดการแถลงข่าวจับผู้ต้องหา และอนุญาตให้สื่อมวลชนบันทึกภาพการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ เพราะทั้ง 2 กรณี จะทำให้ผู้ต้องหาตกเป็นจำเลยของสังคม

สอดคล้องกับนายเจษฏา อนุจารี สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เรียกร้องให้สื่อมวลชนเคารพกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะแม้ว่าสื่อจะมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร แต่ก็จำเป็นต้องไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น
รองประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้สภาวิชาชีพฯ จะไม่มีอำนาจดำเนินคดีตามกฎหมายต่อสื่อมวลชน แต่หากพบการกระทำที่ผิดจริยธรรม จะออกคำเตือนและคำแนะนำ เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้อง ซึ่งถือเป็นวิธีการกำกับดูแลสื่อด้วยกันเองอีกรูปแบบหนึ่ง

และหากประชาชนพบเห็นการนำเสนอข่าวที่ไม่เหมาะสม หรือผิดกฎหมาย ก็สามารถร้องเรียนได้ที่สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้เช่นกัน

ที่มา : http://news.voicetv.co.th/thailand/12171.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น