บทบาทสื่อมวลชนกับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน
- ขณะที่ผู้นำกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนกำลังเร่งขับเคลื่อนความร่วมมือในหลายด้านเพื่อก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียนภายในปี 2558 ยังมีกลุ่มวิชาชีพหนึ่งที่เป็นความหวังและมีบทบาทอย่างยิ่งที่จะร่วมผลักดันให้ความฝันของคนอาเซียนบรรลุเป้าหมายได้ นั่นก็คือ สื่อมวลชน
- ดังนั้น จึงเป็นที่มาของงานสัมมนาเรื่อง “บทบาทของสื่อมวลชนกับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน 2558” จัดโดยสมาคมอาเซียน – ประเทศไทย(ASEAN Association - Thailand)
- ในเวทีดังกล่าว มีข้อมูลที่ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาจำนวน 2,170 คน จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ เกี่ยวกับทัศนะคติและการตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียน รวมทั้งช่องทางที่ทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้จักอาเซียนมาจากสื่อใดมาก/น้อยเรียงตามลำดับ ผลสำรวจปรากฏดังนี้
- 1.ทีวี 78.4 %
- 2.โรงเรียน 73.4 %
- 3.หนังสือพิมพ์ 70.7 %
- 4.หนังสือ 65.0 %
- 5. อินเตอร์เน็ต 49.9 %
- 6.วิทยุ 40.3 %
- 7.กีฬา 34.1 %
- 8.โฆษณา 31.6 %
- 9.เพื่อน 27.6 %
- 10.ครอบครัว 18.2 %
- 11. ท่องเที่ยว 13.3 %
- 12.ภาพยนตร์ 12.1%
- 13.เพลง 9.2 %
- 14.การงาน 6.1 %
- จะเห็นว่า คนรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับอาเซียน จากสื่อทีวีมากที่สุด ขณะที่สื่ออินเตอร์เน็ตมีคนเข้าไปค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียนอยู่เป็นอันดับที่ 5 คิดเป็นร้อยละ 49.9 ทั้งที่ปัจจุบัน อินเตอร์เน็ตเป็นสื่อที่คนรุ่นใหม่นิยมใช้อย่างมาก และเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้น
- ดังนั้น จากผลสำรวจดังกล่าว สะท้อนอะไรบางอย่างได้หรือไม่ว่า ข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียนในสื่ออินเตอร์เน็ตยังนำเสนอไม่น่าสนใจ หรืออาจมีรายละเอียดไม่มากพอ ทำไมคนจึงรับรู้ข่าวสารจากสื่ออินเตอร์เน็ตค่อนข้างน้อย
- อย่างไรก็ตาม นายวิทวัส ศรีวิหค อธิบดีกรมอาเซียน ชี้ว่า ถึงแม้สื่อทีวี จะทำให้คนรู้จักและรับรู้ความเคลื่อนไหวของอาเซียนมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ถามว่า มีความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของอาเซียนในการรวมเป็นหนึ่งสู่ความเป็นประชาคมได้มากน้อยแค่ไหน ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในเรื่องนี้ เพราะถึงแม้คนจะรู้จักอาเซียนจากการติดตามข่าวสารทางสื่อทีวีมาก แต่ในข้อเท็จจริงจะเห็นว่า สื่อดังกล่าวนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับอาเซียนน้อยมาก ดังนั้น จึงคาดได้ว่า คนอาเซียนรู้จักอาเซียนในลักษณะผิวเผินหรือแค่ได้ยินผ่านหูจากการโหมประชาสัมพันธ์เพียงบางช่วงบางเวลา เพียงแค่ให้ทราบความเคลื่อนไหว แต่ไม่เจาะลึกรายละเอียดและสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของ “อาเซียน”
- อีกหนึ่งความเห็นที่มีต่อเรื่องนี้ คือ นายอัครพงษ์ ค้ำคูณ ผู้ช่วยคณบดี วิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มองว่า คนอาเซียนแต่ละประเทศจะมีเอกลักษณ์ที่คล้ายกันอยู่ประการหนึ่งคือ ถือความเป็นอัตลักษณ์ในวัฒนธรรมของตนเองเป็นใหญ่ ไม่มีใครยอมใคร จัดอยู่ในกลุ่มพวกอนุรักษ์นิยม เพราะถือว่า รากฐานเผ่าพันธุ์จากบรรพบุรุษเป็นสิ่งที่ต้องดำรงรักษาไว้ ใครจะมาเปลี่ยนแปลงหรือดัดแปลงไม่ได้ นี่จึงเป็นปัญหาอุปสรรคอีกข้อหนึ่งที่อาจยากต่อการหลอมรวมสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน แล้วใครจะมาทลายกำแพงที่กั้นกรอบความคิดเหล่านี้ได้ ก็อยู่ที่สื่อมวลชนนั่นเอง ที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมในเชิงสร้างสรรค์
- นายอัครพงษ์ ได้ยกกรณีพิพาทปราสาทเขาพระวิหารระหว่างไทย – กัมพูชา ว่า กรณีนี้ หากไทยเงียบตั้งแต่แรก ไม่ตอบโต้หรือไปเติมเชื้อ ปัญหาเขาพระวิหารก็ไม่ลุกลามบานปลาย ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ เป็นเพราะมีการโยงเอาประเด็นการเมืองไปเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ไปหลากหลายมุม มีการอ้างอิงแผนที่กันหลายฉบับ โต้เถียงกันไปมา จนกลายเป็นปัญหาความมั่นคงระหว่างสองประเทศ ทั้งที่ในสถานที่จริงนั้น มีสักกี่คน ที่ลงไปสัมผัสและเห็นด้วยตาจริงๆ เพราะมันก็แค่เส้นแบ่งในแผนที่ แต่ประชาชนสองประเทศที่อาศัยอยู่ตรงจุดนั้น ก็ยังใช้ชีวิต ทำมาหากิน พึ่งพาอาศัยกันอย่างสงบสุข ปัญหาทั้งหลายเกิดขึ้นจากคนในเมืองหลวงของสองประเทศทั้งสิ้นที่ทะเลาะกันแล้วก็พลอยทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ระหว่างรอยต่อสองประเทศต้องเดือดร้อน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น